วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บ้านปูฯ ชูบ้านเขาสมอคอน หนึ่งในแบบอย่างชุมชนแห่งความยั่งยืน ถอดบทเรียนจากปัญหา สู่การเรียนรู้ และผลผลิตทางความคิดที่พร้อมพัฒนาต่อเนื่อง



ชุมชนบ้านเขาสมอคอน หมู่ 1 ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 ชุมชนจากทั้งหมด 128 หมู่บ้าน ให้เป็น “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ” ของอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานแห่งเอเชียที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน สรุปผลการดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชมบ้านเขาสมอคอน” ตลอดระยะเวลา 5 ปี จากวันแรกที่ทุกอย่างหยุดชะงัก เนื่องจากชุมชนและเกษตรกรได้รับความเสียหายและผลกระทบจากมหาอุทกภัยปี 2554 และบ้านปูฯ เข้าไปให้ความช่วยเหลือชุมชนหมู่ 1, 2 และ 3 ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี จนถึงวันนี้ ชุมชนฯ มีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบจากวันแรก นำมาซึ่งการลดลงของจำนวนหนี้สินจากการดำเนินงานของกองทุนปุ๋ย คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในโครงการ มาจนถึงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม และแปลงเกษตรผสมผสาน ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติ การถอดบทเรียนจากปัญหาต่างๆ การเรียนรู้ และความสามัคคี ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยสร้างความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเจอปัญหาใดก็ตาม และล่าสุด “ชุมชนบ้านเขาสมอคอน หมู่ 1” ได้รับคัดเลือกจากกรมพัฒนาชุมชน ให้เป็น “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ” ระดับพออยู่พอกิน ในอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี จากการพัฒนาที่อยู่บนรากฐานการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

หลังจากบ้านปูฯ ช่วยซ่อมแซมฟื้นฟูชุมชนบ้านเขาสมอคอนหลังน้ำลด ซึ่งเป็น กิจกรรมระยะเร่งด่วน ในปี 2555 แล้ว ก็เดินหน้า “โครงการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชนบ้านเขาสมอคอน” ต่อในกิจกรรมระยะกลาง เน้นฟื้นฟู พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและพัฒนาทักษะเกษตรกร เริ่มตั้งแต่ปี 2556 และยังดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน คือ “กองทุนปุ๋ยสัจจะชาวนา บ้านเขาสมอคอน” ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกองทุนสามารถบริหารจัดการแหล่งทุนประจำชุมชนได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนสนับสนุนจากบ้านปูฯ อีกต่อไป โดยผลลัพธ์ที่สำคัญจากการดำเนินงานของกองทุนปุ๋ยนั้น นอกจากช่วยลดภาระหนี้สินทั้งในและนอกระบบของเกษตรกรในระยะยาวแล้ว ยังมีส่วนในการส่งเสริมพฤติกรรมการออมของสมาชิกกองทุนปุ๋ยอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น โครงการทำน้ำหมัก ปุ๋ย และฮอร์โมนชีวภาพ โครงการส่งเสริมอาชีพปลูกชะอม การบริหารจัดการขยะ ที่เกษตรกรตอบรับและนำไปประยุกต์ใช้อย่างเห็นผล

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ความมุ่งหวังของบ้านปูฯ คือการช่วยชุมชนพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชุมชนบ้านเขาสมอคอนทั้ง 3 หมู่พัฒนาไปสู่การเป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว โดยยึดถือตามแนวทางการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” เป็นที่มาของการตั้งโจทย์ตั้งแต่วันแรกว่าการพัฒนาควรเริ่มจากการพูดคุยกับชาวบ้านถึงสิ่งที่ต้องการและปัญหา จากนั้นจึงส่งเสริมการสร้างทักษะและองค์ความรู้ให้ แต่การคิด ดำเนินการและแก้ปัญหาจำเป็นต้องให้เกษตรกรเป็นผู้ลงมือทำ เริ่มตั้งแต่ปรับความคิดและมองสิ่งต่างๆ ให้รอบด้าน ถ้าเจอปัญหา ก็ลองหาแนวทางอื่นที่สามารถทำได้ สิ่งนี้สอดคล้องกับแนวคิดของบ้านปูฯ ที่ว่า “พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา” ซึ่งจะมีความยั่งยืน และเมื่อวันหนึ่งที่บ้านปูฯ จำเป็นต้องเดินออกไป ชุมชนบ้านเขาสมอคอนก็จะสามารถยืนได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง” 

ตัวอย่างการมองปัญหารอบด้าน และหาทางแก้ไขที่เหมาะสม คือกิจกรรมระยะยาว เพื่อพัฒนาสู่ชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน ใน “โครงการนาอินทรีย์ข้าวสินเหล็ก เขาสมอคอน” เริ่มในปี 2557 ที่เกษตรกรมีแบรนด์ของตนเอง “ข้าวกล้องอินทรีย์สินเหล็ก เขาสมอคอน” แม้ข้าวสินเหล็กเป็นสุดยอดพันธุ์ข้าวที่ดีต่อสุขภาพ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวสินเหล็กของประชาชนทั่วไป ทำให้การตอบรับของลูกค้าเป็นไปอย่างช้าๆ ประกอบกับปัญหาภัยแล้งตั้งแต่ช่วงปี 2558 ต่อเนื่องถึงปี 2559 ทำให้การเพาะปลูกข้าวสินเหล็กต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ตามด้วย “การเรียนรู้” ที่เกิดขึ้น ชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนนาข้าวสินเหล็ก สู่การปลูกข้าวหอมมะลิแทนพร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกระบวนการให้เป็นนาอินทรีย์ให้ได้มากที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

และเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นทุกปี เกษตรกรได้ลดปริมาณการทำนาข้าวลง และหันไปทำ “แปลงเกษตรสาธิตที่ทำกินอย่างยั่งยืน เกษตรผสมผสาน” เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทั้งยังสามารถนำผลผลิตมาบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายผลผลิตเพื่อเพิ่มรายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดทั้งปีอีกด้วย โดยแปลงเกษตรผสมผสานเป็นผลผลิตล่าสุดด้านการพัฒนาความคิดที่เกิดจากการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร การเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง และการศึกษาดูงานในโครงการอื่นๆ เพื่อเรียนรู้เรื่องราวทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว 

นางอารมย์ รวบรวม (ผู้ใหญ่กบ) ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตัวแทนเกษตรกรบ้านเขาสมอคอน เผยความในใจเกี่ยวกับโครงการฯ ตลอดระยะเวลา 5 ปี ว่า “บ้านปูฯ และโครงการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชนบ้านเขาสมอคอน สอนให้พวกเราเปิดรับการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และสร้างโอกาสให้ทุกคนในชุมชน ครอบครัวของตนได้เรียนรู้การพัฒนานาข้าวให้มีความเป็นเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความรู้ในการปลูกมะนาวและชะอมนอกฤดู ทำให้มีผลผลิตสำหรับบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ทำให้ชาวบ้านได้ทราบว่าเรียนรู้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องเริ่มที่การบริหารจัดการความคิดของตนเอง ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายลดลง นอกจากนั้นแล้วชาวบ้านในชุมชนทุกคนต่างก็มีความสามัคคีกันมากขึ้น”

ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนและเกษตรกร รวมไปถึงแรงผลักดันของผู้นำชุมชน ส่งผลให้ชุมชนบ้านเขาสมอคอน หมู่ 1 ได้รับเลือกให้เป็น “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ” ระดับพออยู่พอกิน โดยเป็น 1 ใน 9 ชุมชน จากจำนวนทั้งหมด 128 ชุมชน ของอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี จากการยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานของชีวิต 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการลดรายจ่าย ด้านการเพิ่มรายได้ ด้านการประหยัด ด้านการเรียนรู้ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และด้านการเอื้ออารีต่อกัน เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนอื่นต่อไป 



(ซ้าย) นาข้าวที่มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นเกษตรอินทรีย์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (กลาง-ขวา) ผลผลิตจากโครงการเกษตรประณีต (เกษตรผสมผสาน) หมู่ 3 บ้านเขาหมอนอิง ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี



(ซ้าย) โครงการแปลงสาธิต ที่ทำกินอย่างยั่งยืน หมู่ 1-2 ชุมชนบ้านเขาสมอคอน ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี (ขวา) กิจกรรม “ขยะแลกของ” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสุขอนามัย ให้ชาวบ้านรู้จักการคัดแยกขยะและเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชน