วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

ICDL เดินหน้าพัฒนาไอทีในการทำงาน หนุนทักษะแรงงานยุคดิจิทัล




ประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมในการพัฒนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นดิจิทัล ฮับ ศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน ความพร้อมด้านทักษะไอทีถูกหยิบยกให้เป็นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการพัฒนาแรงงานดิจิทัลให้พ้นจากภาวะวิกฤตอย่างเร่งด่วน กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคน (Digital Workforce) พร้อมรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ผสานพลังกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนตามนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์อันเป็นหัวใจหลักของการนำประเทศไทยเข้าสู่ Thailand 4.0

การส่งเสริมนโยบายดิจิทัลของภาครัฐบาลเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมในโครงการ Phuket Smart City ที่มี SIPA เป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนเตรียมจัดอบรมทักษะไอทีร่วมกับ ICDL ให้กับผู้ประกอบการ SMEs, Start Up และบุคคลทั่วไปจำนวน 200 คน และวิทยากรจำนวน 30 คน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะไอทีเบื้องต้นสำหรับธุรกิจ การอบรมทักษะไอทีนี้ไม่ใช่เพียงแค่การใช้งานเทคโนโลยีผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไลฟ์สไตล์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการส่งเสริมการใช้งานและพัฒนาทักษะไอทีที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานสำหรับแรงงานในธุรกิจด้วย โดยโครงการนี้จะเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน และจะขยายไปที่ Smart City อื่นๆในลำดับต่อไป คาดว่าไม่เกินสิ้นปี 2016

ทีน่า วู ผู้จัดการทั่วไป ICDL ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า “ในการเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ คนไทยควรเตรียมตัวฝึกฝนทักษะไอทีสำหรับการทำงานเพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้งานซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในการประกอบอาชีพต่างๆ ให้พร้อมปฏิบัติงาน โดยรัฐบาลเร่งพัฒนาทุนทนุษย์ด้านแรงงานเพื่อผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะ Digital ให้แรงงานพร้อมทำงานได้อย่างทันที เป้าหมายของ ICDL คือมุ่งพัฒนาทักษะไอทีสำหรับการทำงานของแรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศของภาครัฐที่วางไว้”

ICDL หรือวุฒิบัตรรับรองความสามารถคอมพิวเตอร์สากล (International Computer Driving License-ICDL) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลด้านทักษะคอมพิวเตอร์พื้นฐานสำหรับบุคคลทั่วไปโดยมีหลักสูตรและระบบทดสอบความรู้ความชำนาญทางด้านคอมพิวเตอร์ระดับสากลโดยมาจากมูลนิธิ ECDL ของยุโรป ทักษะไอทีที่มุ่งสู่กำลังแรงงาน เฉลี่ยช่วงอายุตั้งแต่ 21-60 ปี เพื่อเตรียมพร้อมทักษะไอทีสำหรับนักเรียน นักศึกษา โดย ICDL แบ่งระดับการพัฒนาทักษะไอทีออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 เป็นการใช้ทักษะดิจิทัลทั่วไปซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้งานดิจิทัลได้โดยรู้เท่าทัน ระดับที่ 2 Digital Literacy เป็นระดับที่แรงงานควรมีในการทำงาน ภาคการศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา และอุดมศึกษาควรผลักดันให้เกิดการทดสอบก่อนจบการศึกษา เพื่อวัดความพร้อมของนักเรียน นักศึกษา ก่อนก้าวเข้าสู่การเป็นแรงงาน ระดับที่ 3 Digital Competence เป็นระดับที่มีความซับซ้อนและเจาะลึกการสำหรับทำงาน เช่น Presentation และ Database และระดับที่ 4 Digital Expertise เป็นทักษะดิจิทัลขั้นสูง สำหรับงานที่เฉพาะเจาะจง

นอกจากแรงงานที่ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะไอทีแล้ว ภาคการศึกษาก็เป็นหนึ่งในหน่วยทางสังคมที่สำคัญที่ควรกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะไอทีตั้งแต่วัยเรียน เพื่อต่อยอดในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะบริหารธุรกิจ ม.เชียงใหม่ เป็นคณะแรกที่ใช้ข้อสอบของ ICDL เป็นมาตรฐานการสอบเพื่อวัดศักยภาพไอทีของคณาจารย์ นักศึกษา ม.ราชมงคลล้านนา ม.ราชมงคลกรุงเทพ ม.เชียงใหม่ ม.มหิดล ก็เป็นสถาบันที่สนับสนุนการใช้ ICDL ในการทดสอบ โดยมีการจัดตั้งเป็นศูนย์สอบเพื่อให้นักศึกษา คณาจารย์ และบุคคลภายนอกที่สนใจสามารถเข้าทดสอบและอบรมได้ด้วยตนเอง

จากการทดสอบของ ICDL ในปี 2558 ผู้ทดสอบจำนวน 2,199,142 คน จาก 103 ประเทศ เมื่อเข้าร่วมพัฒนาทักษะกับ ICDL พบว่าสามารถลดระยะเวลาในการทำงานลง 36 นาที/วัน/คน และลดระยะเวลาในการขอความช่วยเหลือจากแผนกไอทีลง 40 % แสดงให้เห็นว่าการที่แรงงานมีทักษะไอทีสำหรับการทำงานที่ดีขึ้นจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“ภาพรวมทักษะไอทีไทยเพื่อการทำงานอยู่ในขั้นวิกฤต แรงงานไทยขาดทักษะไอทีเพื่อการทำงานตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐาน การจะพัฒนาประเทศให้เป็นฮับของอาเซียนจำเป็นต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อมและเพียงพอจำเป็นต่อการใช้งานพื้นฐานของงานไอที ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เทคโนโลยีไอทีในชีวิตประจำวัน แต่ต้องพร้อมต่อการใช้ทำงานเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลตามเป้าหมายที่วางไว้” ดร.ฮิวจ์ส แพททริค โอคอนแนล ตัวแทน ICDL Asia ประเทศ กล่าวทิ้งท้าย